ลักษณะทางกายภาพ ของ วัดแก้ว (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

เจดีย์

ลักษณะทางกายภาพของวัดแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ ผังเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตัวอาคารเรือนธาตุเป็นอาคารทรงจตุรมุข ขนาดประมาณ 18 × 18 เมตร ถัดขึ้นมาเป็นชุดฐานบัวที่ประกอบด้วยฐานเขียง กึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบนเว้นเป็นร่องและก่ออิฐเว้นช่องต่อด้วยชั้นบัวคว่ำและลูกแก้ว ถัดขึ้นไปเป็นผนังอาคารมีทางเข้า[1]

ด้านมุขทิศตะวันออก ภายในเรือนธาตุมีขนาดประมาณ 4 × 4 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สภาพชำรุดเหลือเฉพาะหน้าตัก ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ถึงส่วนบั้นพระองค์ (บั้นเอว) ส่วนหลังของพระประธานก่อติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาของพระประธาน มีซุ้มจรนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐส่วนหลังองค์พระก่อติดกับผนังอาคารเช่นเดียวกัน[1]

ด้านมุขทางด้านทิศใต้ด้านในเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ประตูทางเข้าทางมุขทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูและธรณีประตูทำจากหินปูน ความสูงของประตูประมาณ 1.6 เมตร ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐสภาพชำรุด ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สันนิษฐานว่าลักษณะของมุขในแต่ละด้านน่าจะมีความคล้ายกัน[1]

มุขทางด้านทิศเหนือ พบการนำพระพุทธรูปศิลาทรายแดง สมัยอยุธยาสกุลช่างไชยาเข้ามาประดิษฐานภายในมุขแทน มุขทางด้านทิศตะวันตกมีการตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง

ส่วนยอดของอาคารนั้นพังลงมาหมดแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะชั้นคล้ายปราสาท เหนือชั้นเรือนธาตุทางด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซัมกุฑุ ชั้นของหลังคาแต่ละชั้นน่าจะมีการประดับสถูปจำลองเนื่องจากพบสถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐาน

จากลักษณะผังของวัดแก้วมีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสันในชวาภาคกลางกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกคล้ายกับปราสาทจามกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จึงกำหนดตัวอายุของวัดแก้วอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14–15

วิหาร

ในปี พ.ศ. 2523 ในการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร พบแนวอิฐทางด้านตะวันออกบริเวณที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 7.5 เมตร

อาคารเรือนธาตุจตุรมุขของวัดแก้ว
มุขด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสมัยอยุธยา
มุขด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสมัยอยุธยา 
มุขด้านทิศใต้ห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง
มุขด้านทิศใต้ห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง 
มุขด้านทิศตะวันออกมีขนาดประมาณ 4 × 4 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีซุ้มจรนำด้านซ้ายและด้านขวา
มุขด้านทิศตะวันออกมีขนาดประมาณ 4 × 4 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีซุ้มจรนำด้านซ้ายและด้านขวา 
มุขด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง
มุขด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง 

ใกล้เคียง

วัดแก้วพิจิตร วัดแก้วฟ้าจุฬามณี วัดแก้วโกรวาราม วัดแก้ว (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) วัดแก้วแจ่มฟ้า วัดแก้วฟ้า (จังหวัดนนทบุรี) วัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม วัดแก้ว (กรุงเทพมหานคร) วัดแก้วไพฑูรย์ วัดแก้วมงคล (จังหวัดสมุทรสาคร)